การตลาดโซเชียลมีเดีย

Ice Bucket Challenge มาถึงประเทศไทยแล้ว

event-pringles

ช่วงนี้ไม่ว่าจะมองไปบน news feed Facebook ของเพื่อนเราคนไหน ก็จะเห็นแต่คำว่า Ice Bucket Challenge อยู่เต็มไปหมด แถมในบางครั้งยังเห็นเพื่อนแชร์วิดีโอคนดังเอาน้ำเย็นราดตัวพร้อม #IceBucketChallenge พ่วงเข้าไปด้วย ใครที่ไม่อยากตกเทรนด์และอยากรู้ว่า Ice Bucket Challenge คืออะไร ตามมาอ่านได้ที่บทความนี้เลยค่ะ

Ice Bucket Challenge เป็นแคมเปญที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสมาคม ALS ซึ่งเป็นสมาคมที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ Lou Gehrig โดยอาการของโรคนี้คือผู้ป่วยจะสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อของตนเองจนกลายเป็นอัมพาตไปในที่สุด ส่วนสิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ โรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยเพราะโรคนี้คร่าชีวิตคนอเมริกันกว่าพันคนในหนึ่งปี ดังนั้นทางสมาคม ALS จึงหาวิธีที่จะทำให้คนทั่วไปตระหนักถึงการมีตัวตนของโรคนี้ นอกจากรับรู้ถึงโรคนี้แล้วหากสามาถบริจาคเงินได้ด้วยก็จะดีมาก

สำหรับกฏกติกาการร่วมสนุกกับกิจกรรมนี้ก็ไม่มีอะไรมาก หากคุณได้รับคำท้า คุณมีเวลา 24 ชั่วโมงในการปฏิบัติภารกิจเอาน้ำเย็นเฉียบราดตัวเอง ราดเสร็จแล้วก็ต้องบริจาคเงินให้กับสมาคมด้วยนะ ส่วนจะเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ก็แล้วแต่ศรัทธา แต่หากคุณเลือกที่จะไม่เปียก คุณสามาถเลือกที่จะบริจาคเงินเป็นจำนวน $100 ให้สมาคม ALS ได้ ซึ่งประธานาธิบดี Barack Obama เป็นหนึ่งคนที่เลือกที่จะไม่เปียกและบริจาคเงินแทน หลังจากที่คุณปฏิบัติภารกิจเรียบร้อยแล้ว คุณก็มีสิทธิ์ที่จะส่งต่อคำท้าไปให้เพื่อนหรือคนรู้จักของคุณอีกสามคน และแน่นอนว่าพวกเขาเหล่านั้นมีเวลา 24 ชั่วโมงในการเลือกว่าจะเปียกหรือบริจาคเงินจำนวน $100 โดยในตอนแรก Ice Bucket Challenge ดูเหมือนจะจำกัดวงอยู่แค่ที่อเมริกาเท่านั้น แต่ตอนนี้ได้ขยายวงกว้างออกไปทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย ดารา นักแสดงหลายคนต่างก็ออกมาสนับสนุนแคมเปญนี้กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เจมส์ จารยุ, ชมพู่ อารายา, ตุ๊กกี้, มดดำ และอีกมากมาย หากมองในแง่ของความสำเร็จของแคมเปญนี้ ก็ต้องบอกเลยว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จอยู่พอสมควร ทั้งนี้เพราะแคมเปญนี้บรรลุจุดประสงค์ทั้ง 2 ที่ทางสมาคม ALS ได้ตั้งไว้นั่นก็คือ การให้คนมาบริจาคเงินและการให้คนตระหนักถึงความเลวร้ายของโรคนี้ ในด้านของการบริจาคเงิน มีคนออกมาบริจาคให้แคมเปญนี้แล้วกว่า 15.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อมีคนบริจาคเงินกันเยอะขนาดนี้ แล้วพวกเขารู้กันหรือเปล่าว่าโรค Lou Gehrig ร้ายแรงขนาดไหน? จนถึงตอนนี้ยังไม่มีสถิติที่แน่ชัดว่ามีคนรู้จักโรคนี้มากขึ้นไหม แต่ที่แน่ ๆ มีคนรู้จักสมาคม ALS เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน มาดูสถิติกันว่าในโลกโชเชี่ยลมีคนพูดถึงแคมเปญนี้กันมากน้อยแค่ไหน

IH Digital / Ice Bucketing Chart - source: Statista
IH Digital / Ice Bucketing Chart – source: Statista

 

Source: Forbes

การประสบความสำเร็จของแคมเปญนี้เกิดขึ้นจากสามสิ่งหลัก ๆ อย่างแรกก็คือ ความง่ายของปฏิบัติการนี้ จึงทำให้ใครหลาย ๆ คนสามารถที่จะร่วมสนุกได้ ใคร ๆ ก็ปฎิบัติภารกิจให้สำเร็จได้ภายในเวลาไม่ถึงนาที อย่างที่สองก็คือ ภารกิจนี้กำหนดว่าคุณต้องถ่ายคลิปวีดีโอของตนเอง แล้วอัพขึ้นสู่แพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียที่ซับพอร์ทวีดีโอ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Facebook, Instagram หรือ Vine การที่เราทำการอัพวีดีโอขึ้นไปแบบนี้มีส่วนช่วยผลักดันให้แคมเปญนี้เกิดการแชร์ต่อและเกิดเป็นกระแสไวรัลในที่สุด อย่างที่สามก็คือ ความสนุกสนานของแคมเปญ เราสนุกที่ได้ดูเพื่อนเปียก เราสนุกที่ได้แชร์คลิปเพื่อนเปียก และเราก็อาจจะสนุกเวลาที่มีเพื่อนเอาน้ำเย็นมาราดใส่เราหรือเอาน้ำเย็นราดใส่ตัวเอง เมื่อแคมเปญนี้มาถึงเมืองไทย กฏกติกาก็เปลี่ยนไปให้เหมาะกับสภาพทางสังคม โดยไฮไลท์ในการราดน้ำผสมน้ำแข็งนั้นยังไม่หายไปไหน แต่แทนที่เราจะบริจาคให้สมาคม ALS ก็เปลี่ยนมาเป็นบริจาคให้มูลนิธิต่าง ๆ ในประเทศไทย นอกจากนั้นการใช้ hashtag ยังมีการเพิ่มคำว่า TH เข้ามาด้วย จาก #IceBucketChallenge กลายมาเป็น #IceBucketChallengeTH ก็มาดูกันต่อไปว่าทิศทางของแคมเปญนี้จะเป็นยังไง เพราะเท่าที่เห็นแคมเปญนี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววันนี้.

Leave a Comment